SHARE

พื้นฐานของการสร้างบ้าน หรือหากจะสร้างบ้านเราควรรู้หรือทราบมีเรื่องอะไรบ้างน๊า

คนที่ปลูกสร้างบ้านเองมักมีปัญหายุ่งยากชวนให้ปวด

เพราะนับแต่เริ่มสร้างบ้านก็เริ่มเกิดปัญหาเป็นทุกข์ตั้งแต่เริ่มหาคนเขียน แบบบ้าน หาผู้รับจ้าง หาคนคุมงานที่ไว้ใจได้ เมื่อเริ่มทำการก่อสร้างก็มีปัญหาการเลือกซื้อวัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน มีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างเพราะเปลี่ยนแปลงความต้องการในการใช้งาน มีปัญหากับเพื่อนบ้านข้างเคียง ท้ายที่สุดการก่อสร้างบานปลายเสียทั้งเงินและเวลา แต่จริงๆ แล้วการสร้างบ้านของตนเองนี้ไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการก่อสร้างทั้งหมดก็ได้ ขอเพียงทราบรายละเอียดหลักๆ ที่จะทำให้ได้บ้านที่ทั้งสวยและมั่นคงปลอดภัยก็น่าจะพอแล้ว

เมื่อต้องการสร้างบ้านอย่างแรกที่ต้องมีคือแบบบ้านโดยให้สถาปนิกออกแบบหรือซื้อแบบบ้านสำเร็จรูปที่มีขายอยู่ทั่วไป ราคาค่า (ออก) แบบบ้าน ราคาประมาณ 3-5% ของราคาค่าก่อสร้าง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของสถาปนิก วิศวกรโครงสร้างหรือวิศวกรงานระบบผู้เขียนแบบ และค่าพิมพ์แบบดังนั้นหากเป็นแบบบ้านสำเร็จรูปราคาจะถูกกว่า เพราะสามารถขายได้หลายครั้งในการออกแบบครั้งเดียว แต่แบบบ้านสำเร็จรูปอาจไม่ได้รูปแบบการใช้งานตามที่ต้องการเหมือนการให้สถาปนิกออกแบบ

แบบบ้านจะประกอบด้วย แบบแปลนของผังบริเวณบ้าน แบบแปลนของชั้นต่างๆทุกชั้น จนถึงหลังคา รูปด้านทุกด้าน รูปตัดของตัวบ้านอย่างต่ำ 2 แนว ถ้าเป็นบ้านที่พื้นที่ค่อนข้างมากต้องมีรูปตัดมากกว่า 2 แนว นอกจากนี้ต้องมีแบบรายละเอียดของส่วนต่างๆของบ้านเพื่อเป็นแบบขยายสำหรับการทำงาน ได้แก่ แบบรายละเอียดของประตู หน้าต่าง สุขภัณฑ์ แบบงานตกแต่งส่วนต่างๆ ของตัวบ้าน เช่น ราวบันได ลูกขั้นบันได บัวหรือคิ้วรอบผนังบ้าน ชายหลังคา เป็นต้น แบบของโครงสร้างที่แสดงรายละเอียดของการเสริมเหล็กของหน้าตัดคาน เสาและพื้น แบบโครงสร้างของหลังคาที่ต้องแสดงรายละเอียดของชิ้นส่วนต่างๆ ว่ามีขนาดเท่าใดและประกอบกันด้วยลักษณะแบบไหน มีมุมเอียงอย่างไร แบบงานระบบประปาและสุขาภิบาล แสดงการเดินระบบท่อน้ำดีน้ำทิ้งและการระบายน้ำฝน แบบของระบบไฟฟ้าและแสงสว่างที่แสดงวงจรของงานไฟฟ้า งานระบบสื่อสาร โทรศัพท์ จุดรับสัญญานโทรทัศน์ และที่เป็นส่วนสำคัญที่ต้องใช้สำหรับการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง คือรายการคำนวณโครงสร้างของวิศวกรโครงสร้าง จากนั้นไปขอเอกสารการยื่นขออนุญาติจากทางเทศบาล แล้วนำมากรอกให้ครบถ้วน

วิธีการขออนุญาติปลูกบ้าน

  • 1. กรอกคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร (ข.1)
  • 2. แบบแปลนแผนผัง จำนวน 5 ชุด
  • 3. หนังสือรับรองว่าเป็นผู้ออกแบบ สถาปนิก และ วิศวกร พร้อมสำเนาใบอนุญาต
  • 4. สำเนาโฉนดที่ดินที่จะก่อสร้าง
  • 5. สำเนาบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้านเจ้าของอาคาร ในกรณีเป็นนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียน

จากนั้นนำเอกสารทั้งหมดไปยื่นต่อเทศบาลซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ ภายใน 45 วัน ต้องได้รับแจ้งว่าได้รับอนุญาตหรือ ไม่ ถ้าไม่อนุญาตจะต้องแก้ไขอะไรบ้าง เมื่อแก้ไขแล้วก็ควรจะได้รับอนุญาต และเสียค่าธรรมเนียมตารางเมตรละไม่เกิน 4 บาท

เมื่อได้แบบบ้านแล้วขั้นตอนต่อมาคือหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวชี้ว่าท่านจะได้บ้านตามต้องการหรือไม่ การคัดเลือกผู้รับเหมาควรที่จะพิจารณาหลายด้าน ไม่ใช่เพียงผู้เสนอราคาต่ำสุดเท่านั้น เนื่องจากราคาต่ำสุดอาจจะเป็นเพราะคิดราคาผิด หรือต้องการงานมากจึงใช้การตัดราคาเพื่อให้ได้งาน และเมื่อทำงานไปแล้วก็จะมีปัญหาในระหว่างการทำงานได้ เช่น การเปลี่ยนขนาดหรือคุณภาพของวัสดุ ที่ไม่ตรงตามแบบที่กำหนดไว้ สิ่งที่ผู้จะสร้างบ้านควรรู้ต่อไปคือ ขั้นตอนการสร้างบ้านว่า ผู้รับเหมาเค้ามีขั้นตอนการทำงานอย่างไรกันบ้าง

ขั้นตอนการปลูกสร้างบ้านที่ควรทราบ

ขั้นตอนการปลูกสร้างบ้าน โดยทั่วไป แบ่งออกเป็นขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้คือ

  • ขั้นตอนที่ 1 ตอกเข็มหล่อฐานราก คานคอดิน และ ตั้งเสาชั้นล่าง
  • ขั้นตอนที่ 2 หล่อคานชั้นบน และเสาสำหรับรับหลังคาชั้น 2
  • ขั้นตอนที่ 3 มุงหลังคา ก่ออิฐผนัง ฉาบปูน ติดตั้ง วงกบ ใส่ฝ้าเพดาน
  • ขั้นตอนที่ 4 ปูวัสดุพื้น ติดตั้งประตู หน้าต่าง ติดตั้งระบบท่อน้ำ
  • ขั้นตอนที่ 5 บุผนังกระเบื้อง ติดตั้งสุขภัณฑ์ ทาสี เดินสายไฟ ติดตั้งดวงโคม เก็บรายละเอียดส่วนที่เหลือให้เรียบร้อย

การสร้างบ้านนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างละเอียด ดังนั้นผู้ที่จะทำการสร้างบ้านควรให้เวลาศึกษาข้อมูลดีๆ เพื่อที่จะได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย และเสียเวลา และพยายามเข้าไปตรวจสอบวัสดุ การออกแบบในแต่ละขั้นตอน หรืออาจจะจ้างผู้เชี่ยวชาญที่ไว้ใจได้เข้ามาตรวจสอบดูแลขั้นตอนต่างๆ ด้วยยิ่งดี

credit: aseanliving.com.